ข่าวสาร
/ บทความ
บทความหรือสาระน่ารู้ต่าง
ผู้ชาย บวชพราหมณ์ ได้หรือไม่? แล้วได้อานิสงส์อย่างไร?

หลายคนเคยได้ยินเรื่องของผู้หญิงบวชชีพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดเรื่องราวกรณีของเหตุการณ์แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยไฮโซปอ ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และโรเบิร์ต ไพบูลย์ ศรีกาญจนานันท์ ได้บวชพราหมณ์ เรามาดูกันว่าตามความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับการบวชพราหมณ์ นั้นเป็นอย่างไรบ้าง และผู้ชายบวชพราหมณ์ มีข้อปฏิบัติต่างจากการถือศีล รวมถึงการบวชเป็นพระอย่างไรบ้าง

 

ผู้ชายบวชพราหมณ์ได้หรือไม่

สำหรับคำถามว่าผู้ชายสามารถบวชพรามณ์ได้หรือไม่นั้น คำตอบคือสามารถบวชได้เหมือนผู้หญิงที่บวชชีพราหมณ์ทั่วไป โดยมีคำเรียกที่ต่างกันดังนี้

  • พราหมณ์ หรือ อุบาสก คือ ผู้ชาย ที่นุ่งขาวห่มขาว โดยมีความตั้งใจที่จะรักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด
  • ชีพราหมณ์ เนกขัมมะ คือ ผู้หญิง ที่นุ่งขาวห่มขาว โดยมีความตั้งใจรักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดเช่นเดียวกับแม่ชี
  • เนกขัมมนารี คือ ผู้หญิง ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

อานิสงส์ของการบวชพราหมณ์

สำหรับผู้ที่บวชพราหมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงจะได้รับอานิสงส์ดังต่อไปนี้

  • มีความเจริญในหน้าที่การงาน ได้ลาภ ยศ สรรเสริญตามปรารถนา
  • เจ้ากรรมนายเวรจะอโหสิกรรม หนี้กรรมในอดีตจะคลี่คลาย
  • สุขภาพแข็งแรง สติปัญญาแจ่มใส ปัญหาชีวิตคลี่คลาย
  • เป็นปัจจัยสู่พระนิพพานในภพต่อๆ ไป
  • สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง โพยภัยอันตรายผ่อนหนักเป็นเบา
  • จิตใจสงบ ปล่อยวางได้ง่าย มองเห็นสัจธรรมแห่งชีวิต
  • เป็นที่รักที่เมตตามหานิยมของมวลมนุษย์มวลสัตว์และเหล่าเทวดา
  • ทำมาค้าขึ้น ไม่อับจน การเงินไม่ขาดสายไม่ขาดมือ
  • โรคภัยของตนเอง ของพ่อแม่ และของคนใกล้ชิดจะเบาบางและรักษาหาย
  • ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ได้เต็มที่สำหรับผู้ที่บวชไม่ได้เพราะติดภารกิจต่างๆ ก็สามารถได้รับอานิสงส์เหล่านี้ได้ด้วย

บวชพราหมณ์ต่างจากการบวชพระอย่างไร

ข้อแตกต่างระหว่างการบวชพราหมณ์ และการบวชพระหรือบวชชี คือการบวชพราหมณ์ไม่ต้องโกนผม โกนคิ้ว และไม่ต้องสวมใส่จีวร นอกจากนี้ ผู้ที่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้นั้นต้องปราศจากข้อห้าม 7 ข้อดังต่อไปนี้

  1. ผู้กระทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
  2. ผู้หลบหนีราชการ
  3. ผู้ต้องหาในคดีอาญา
  4. ผู้ที่เคยถูกตัดสินจําคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสําคัญ
  5. ผู้ที่ถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
  6. ผู้ที่เป็นโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย
  7. ผู้ที่มีร่างกายพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

ขณะที่การบวชพราหมณ์ ผู้ที่บวชจะต้องถือศีล 8 เพื่อเป็นเครื่องควบคุมตนให้สำรวมระวังในกายและวาจา เพื่อให้ตนสามารถตั้งอยู่ในหลักประพฤติแห่งความดีได้ ได้แก่

 
  1. ไม่คร่าชีวิตสัตว์หรือมนุษย์
  2. ไม่ขโมยทรัพย์สินผู้อื่น
  3. ไม่ล่วงในทางเพศต่อสามีหรือภรรยาผู้อื่น รวมถึงชายหญิงต้องห้าม
  4. ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นจริง หรือ คำโกหก
  5. ไม่ดื่มน้ำเมาหรือสารที่ทำให้เมาหรือเสพติด
  6. ไม่บริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในอีกวัน)
  7. ไม่ฟ้อนรำทำเพลง แสดงกิริยารื่นเริง รวมถึงละเว้นจากการแต่งสวยแต่งงามให้ร่างกาย
  8. ไม่นั่งหรือนอนบนที่นั่งหรือที่นอนที่ทำให้นุ่ม และสูงจากพื้น

บวชพราหมณ์ต้องเตรียมตัวอย่างไร

การบวชพราหมณ์นั้นสามารถทำได้เองทั้งที่บ้านและที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรม โดยการบวชพราหมณ์ที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรม จะมีแม่ชีแนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง และด้วยบรรยากาศที่เงียบสงบ จะช่วยให้สามารถถือศีล 8 ได้อย่างเคร่งครัดกว่าการบวชพราหมณ์ที่บ้านซึ่งอาจมีสิ่งรบกวนจากภายนอกมากกว่านั่นเอง โดยการบวชพราหมณ์ที่วัดต้องมีการเตรียมตัวดังนี้

 
  • นำบัตรประชาชนไปแสดงตัวเพื่อกรอกประวัติลงทะเบียนแก่วัดที่รับการบวชพราหมณ์ ซึ่งเป็นกฎของมหาเถรสมาคมที่ทุกวัดต้องปฏิบัติตาม
  • เครื่องแต่งกายชุดขาว โดยผู้หญิงต้องสวมเสื้อขาวชุดปฏิบัติธรรม แขนสามส่วนคล้ายของแม่ชี และนุ่งผ้าถุงสีขาว ส่วนผู้ชายใส่เสื้อขาวชุดปฏิบัติธรรม คอกลมแขนสั้นหรือเสื้อยืดขาว สวมกางเกงสีขาวแบบหลวม
  • ของใช้ส่วนตัว เช่น ยารักษาโรคที่ใช้อยู่เป็นประจำ ยาตามแพทย์สั่ง รวมถึงสบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ
  • เครื่องนอนต่างๆ เช่น หมอน ผ้าห่ม ผ้านวม ส่วนใหญ่ที่วัดมีให้ใช้บริการ และต้องดูแลรักษาความสะอาดให้เรียบร้อย บางวัดอาจอนุญาตให้นำเครื่องนอนส่วนตัวมาใช้ได้
  • ดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อใช้รับศีลขอศีลบวชพราหมณ์ ควรเตรียมไปจากที่บ้านให้เรียบร้อย
  • เคารพกฎ ระเบียบ ที่ทางวัดได้วางไว้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
  • ควรเดินทางไปรับศีลตามเวลาที่วัดกำหนด เช่น ช่วงเช้า ตั้งแต่ 09.30 น.เป็นต้นไป หรือช่วงบ่าย ไปถึงวัดไม่ควรเกิน 16.00 น.

วัดและสถานปฏิบัติธรรมที่รับการบวชพราหมณ์ในกรุงเทพฯ ได้แก่

  1. เสถียรธรรมสถาน
  2. ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  3. วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร
  4. มูลนิธิบ้านอารีย์
  5. วัดพิชัยญาติการาม วรวิหาร
  6. สำนักปฏิบัติธรรมวัดยานนาวา
  7. มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
  8. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
  9. วัดป่าเชิงเลน
  10. บ้านจิตสบาย