ข่าวสาร
/ บทความ
บทความหรือสาระน่ารู้ต่าง
สับสนไหม... คะ ค่ะ คำไทยง่าย ๆ แต่ทำไมใช้ผิดกันบ่อยจัง
ใครมั่นใจว่าตัวเองเป็นเซียนภาษาไทย ลองตอบหน่อยซิว่า คำต่อไปนี้เขียนถูกหรือผิดกันแน่จ๊ะ ?..."สวัสดีคะ", "ไปไหนกันค่ะ", "ขอบคุณมากนะค๊ะ", "ไม่ทราบเหมือนกันคะ" 
 
            เอ...ประโยคเหล่านี้ดูแล้วก็ไม่น่าจะเขียนผิดตรงไหนเลยใช่ไหมคะ ใครให้คำตอบแบบนี้ ต้องมารื้อฟื้นความรู้ภาษาไทยเสียใหม่แล้วล่ะ เพราะคำพวกนี้เขียนผิดล้วน ๆ แถมสมัยนี้เรายังเห็นคนใช้ คะ ค่ะ นะคะ ผิดกันเป็นแถว ๆ (อ่านแล้วก็แอบขัดใจเนอะ) พอไม่มีใครทักท้วงก็เลยใช้ผิดกันจนชินไปเลย ขืนปล่อยไว้แบบนี้ ไม่ดีแน่ ๆ
 
            ถึงเวลาต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่แล้วล่ะจ้ะ ด้วยเคล็ดลับการเขียน คะ ค่ะ นะคะ แบบง่าย ๆ รับรองว่าใช้ได้ถูกต้องทุกสถานการณ์ ไม่สับสนแน่นอน
 

            ก่อนอื่น หลายคนคงสงสัยว่า คำว่า คะ ค่ะ นะคะ เขียนอย่างไรถึงถูกต้องกันแน่ บางคนเขียน "ค๊ะ" ใส่ไม้ตรีก็มี ซึ่งใครที่สงสัยเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดูหลักภาษาไทยพื้นฐานสมัยประถมกันก่อนค่ะ โดยเฉพาะเรื่อง "อักษรสูง-อักษรต่ำ", "คำเป็น-คำตาย" และการผันวรรณยุกต์

            ปกติแล้ว ที่เราผันวรรณยุกต์ 5 เสียงกันจนชิน อย่าง กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า หรือ ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า เพราะตัว "ก" และ "ป" ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นอักษรกลาง คำเป็น เราเลยผันได้ 5 เสียงเต็ม ๆ แต่สำหรับ "ค" นั้น ตามหลักภาษาจัดให้เป็น "อักษรต่ำ" และถ้ามาผสมสระอะ เป็นคำว่า "คะ" จะถือเป็น "คำตาย" เพราะเป็นคำที่มีสระเสียงสั้น 

            เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่า คำว่า "คะ" เป็นอักษรต่ำด้วย และเป็นคำตายด้วย การผันวรรณยุกต์จึงผันได้เพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น คือ "ค่ะ" (เสียงเอก) กับ "คะ" (เสียงตรี) ดังนั้น ถ้าเห็นที่ไหนเขียน "ค๊ะ" หรือ "นะค๊ะ" เติมไม้ตรีละก็ อันนี้ผิดแน่นอนค่ะ เพราะอักษรต่ำอย่าง "ค" จะผันด้วยไม้ตรีไม่ได้เชียว เขียนได้แค่ "คะ" กับ "ค่ะ" เท่านั้น


แล้ว "คะ", "ค่ะ" ใช้ต่างกันอย่างไรล่ะ ?

            ถ้าให้ออกเสียงพูด ทุกคนคงพูดถูกอยู่แล้วล่ะ ว่าประโยคไหนควรจะใช้ "คะ" หรือ "ค่ะ" แต่ถ้าให้เขียน เชื่อว่าคนเกินครึ่งต้องสับสนกันบ้างแน่ ๆ เพราะฉะนั้น มาดูหลักการจำง่าย ๆ เลย นั่นคือ

            - "คะ" ใช้กับประโยคที่ต้องการแสดงเสียงสูง อาจเป็นประโยคคำถามหรือเรียกด้วยความสุภาพ เช่น ไปไหนกันคะ ทางนี้ใช่ไหมคะ ทานได้ไหมคะ พี่คะมาทางนี้หน่อย เข้าใจไหมคะ ฯลฯ

            - "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ ทางนี้ค่ะ ไม่ชอบค่ะ ขอทางหน่อยค่ะ เชิญค่ะ รับทราบค่ะ เห็นด้วยค่ะ

            นะคะ ใช้กับประโยคบอกเล่า หรือตอบรับเช่นกัน แต่จะดูสุภาพและเป็นทางการกว่า เช่น ขอบคุณมากนะคะ คิดถึงนะคะ ไม่เข้าใจก็บอกนะคะ ไปแล้วนะคะ

            เห็นตัวอย่างการใช้คำ "คะ" "ค่ะ" "นะคะ" แล้วก็คงพอนึกภาพออกแล้วใช่ไหมค่ะ อุ๊ย...ใช่ไหมคะ ต่อไปนี้เวลาส่งอีเมล แชท เล่นไลน์กับเพื่อน ก็ฝึกใช้คำเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วยนะคะ... ไหน ๆ ลองยกตัวอย่างการเขียน คะ ค่ะ แบบถูกต้องให้ดูหน่อยซิ ^^

 

Credit : kapook.com